เรื่องของภาษีมรดก
ทาง สนช. ได้เห็นสมควรใช้เป็นกฎหมายและมีร่างเป็น พรบ. ออกมาแล้ว
ขณะนี้รอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะบังคับใช้หลังจากวันประกาศไปแล้ว 180 วัน
อย่าคิดว่าเรื่องมรดกเป็นเรื่องไกลตัวนะครับ
เพราะถ้าท่านเข้าใจธรรมชาติ และหลักทางพุทธศาสนา
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ท่านรับรู้ได้ว่า เรื่องมรดก เป็นเรื่องใกล้ตัวท่านในระดับ วินาที
ดังนั้น ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่น่าจะทำความเข้าใจว่ามันใกล้ชิดครอบครัวเราอย่างไร
และเราควรทำตัวอย่างไร
ตรงนี้จะขอใช้ศัพท์ง่ายๆ ไม่ต้องเป็นภาษากฎหมายนะครับ
เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้นและคิดตามสำหรับครอบครัวท่านเองได้
--------------------------------------
ตอนที่ 1 นี้จะเป็นการพูดถึง ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax)
คือเจ้ามรดกเสียชีวิตไป มีการจัดการแบ่งมรดกเกิดขึ้น จะต้องเสียภาษีอย่างไร
เริ่มต้น ถ้าท่านเป็นคู่สมรสตามกฏหมาย จดทะเบียนสมรสเรียบร้อย
Tax free ครับ รับมรดกแบบไม่ต้องเสียภาษีใดๆ
ฉะนั้น ท่านเป็นสามีใคร เป็นภรรยาใคร ไปจดทะเบียนสมรสเถอะครับ
ในแง่การบริหารเงิน ผมมองว่ามีข้อเสียน้อยมาก
(ในกรณีที่ทั้งสามีและภรรยา ไม่ได้มีข้อเสียทางการเงินเฉพาะบุคคล หรือมีนิสัยที่ไม่ดีในด้านการเงิน)
--------------------------------------
ใครบ้างต้องเสียภาษี?
ถ้าท่านมีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะอายุ เพศ บุคลิก ลักษณะทางกายภาพ จะเป็นอย่างไร
หรือท่านอาจจะเป็นมนุษย์ต่างดาว แต่มาถือสัญชาติไทย
หรือท่านไม่ได้มีสัญชาติไทย
และท่านมีที่อยู่อาศัยในไทย ตามกฏหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
หรือถ้าท่านไม่ได้มีที่อยู่อาศัยในไทย แต่รับมรดกที่เป็นทรัพย์สินจดทะเบียนในไทย
หรือเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนหรือจัดตั้งในไทย
ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดมีหน้าที่เสียภาษีมรดกครับ
เมื่อมองในหลักการของผู้มีหน้าที่เสียภาษี
ถ้าท่านมีสัญชาติไทย ไม่ต้องคิดพิเรนไปเปลี่ยนสัญชาติหรอกครับ
เป็นคนไทย ถือสัญชาติไทย ดีที่สุดครับ
แต่มาหาวิธีบริหารทรัพย์สินที่จะเป็นมรดกดีกว่าครับ
--------------------------------------
เสียภาษียังไง?
ถ้ามูลค่าทรัพย์มรดก หักหนี้มรดกเรียบร้อยแล้ว
ได้รับไม่เกิน 100 ล้านบาท ไม่เสียภาษีครับ
ถ้าเป็น ลูก หลาน เหลน บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรอง บุตรบุญธรรม พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด
เสียภาษี 5% ของส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท
*** หมายเหตุ *** ตีความตามความหมายของ "ผู้สืบสันดาน" และ "บุพการี" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ถ้านอกเหนือจากข้างบน เรียกว่าเป็น "บุคคลอื่น" เสียภาษี 10% ของส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท
ไม่ได้ดูแยกเป็นปีภาษีนะครับ
ไม่ว่าจะทยอยรับมรดกมากี่ครั้ง ในระยะเวลากี่ปี และจะรับมาจากเจ้ามรดกกี่ท่าน
นับสะสมไปเลยครับ
หากเกิน 100 ล้าน เริ่มเสียภาษีได้เลย
มีข้อยกเว้นคือ
ถ้ามรดกนั้น มีเจตนาถูกนำไปใช้เรื่อง ศาสนา การศึกษา สาธารณประโยชน์
หรือมีข้อผูกพันระหว่างไทยกับองค์กรต่างประเทศ
กรณีนี้ไม่ต้องเสียภาษีครับ
การบริหารภาษีมรดกนั้น มีวิธีที่หลากหลายเช่น
การจัดการเรื่องของการแบ่งทรัพย์มรดก
การแปลงสภาพทรัพย์สิน ให้เกิดประโยชน์ในการบริหารภาษีมากขึ้น
การทำประกันชีวิต โดยทำอย่างมีกึ๋น ไม่ใช่สักๆแต่ว่าทำมั่วๆ
ทั้งภาษีจากทรัพย์สินในขณะที่ยังไม่เสียชีวิต
และภาษีการรับมรดก เมื่อเจ้ามรดกเสียชีวิตไปแล้ว