ส่วนที่ 1 สนทนาสักนิดก่อนเข้าเรื่องลงทุน
จากประสบการณ์ที่ได้ให้คำปรึกษาด้านการลงทุน ลูกค้าหลายๆท่านไม่มีประสบการณ์ลงทุนเลย เงินส่วนใหญ่อยู่ในเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ และสลากออมสิน/ธกส. บางคนอาจจะเคยมาบ้างจากการชักชวนจากคนรอบข้าง แต่ก็มีบ้างที่เรียกได้ว่าเชี่ยวชาญเรื่องการลงทุนอย่างมาก ซึ่งบางท่านได้อัตราผลตอบแทนจากหุ้นและค่าเงินเฉลี่ยปีละ 30-40% หรือมากกว่านั้นก็มี
แต่ปัญหาที่ผมพบคือประมาณ 95% "ไม่มี" การจัดทำข้อมูลทรัพย์สินของตนเอง รู้แต่ว่ามีกองทุนของที่นั่น ซื้อหุ้นตัวนู้นตัวนี้ไว้ มีบ้าน คอนโด ที่ดิน ที่ซื้อไว้ปล่อยเช่า และเก็งกำไร บ้างก็กำไร บ้างก็ขาดทุน
ซึ่งเมื่อผมถามว่า “ที่พี่บอกว่ากำไร หรือขาดทุนนั้น รวมๆแล้วเท่าไรเหรอครับ? พอจะเฉลี่ยได้ไหมว่าได้ประมาณเท่าไรต่อปี? ถึงตรงนี้ผมอยากให้ท่านผู้อ่านลองถามตัวเองด้วยคำถามนี้ไปพร้อมๆกัน แล้วลองตอบในใจดู
ตอบได้ไหมครับ? ผมว่าส่วนใหญ่อาจจะตอบได้ว่าราวๆ เท่านี้เปอร์เซ็น หรือประมาณ xxx บาท ผมขอถามต่อว่า “แล้วคุณพอใจกับผลตอบแทนที่ได้ไหม?”
หากไม่พอใจ หรือพอใจแล้วแต่อยากให้คนมาช่วยเป็นที่ปรึกษา ถึงตรงนี้เป็นหน้าที่ขอผมละครับ :D
ลูกค้าทุกคนรวมถึงตัวผมเองจะมีตัวเลขในใจครับว่า อย่างได้ผลตอบแทนเท่าไร แต่ก่อนที่ผมจะแนะนำ เราต้องมาคุยกันเรื่องความเสี่ยงกันก่อนว่า คุณลูกค้ารับความเสี่ยงได้ขนาดไหน
วิธีการที่ใช้กันโดยทั่วไปก็คือให้ลูกค้ากรอกข้อมูลในเอกสารที่เรียกว่า Risk profile หรือตอนนี้น่าจะเรียกว่า KYC (Know your customer) ลูกค้าอ่านแล้วอาจจะงงๆ หน้าที่ผมและท่านนักวางแผนการเงินนะครับที่จะช่วยอธิบายหรือใช้คำถามง่ายๆที่ทำให้ลูกค้าเข้าใจ ซึ่งจากการถามไม่กี่คำถามผมก็พอจะทราบแล้วล่ะครับว่าเขารับความเสี่ยงได้ในระดับไหน เพราะฉะนั้นถ้าคนไหนบอกว่าอยากได้ผลตอบแทนขั้นต่ำ 30% แต่พอทำออกมาแล้วรับความเสี่ยงได้ต่ำ อาจจะต้องเรียกมาปรับทัศนคติกันก่อน 55+
----------
ส่วนที่ 2 เลือกแนวทางการบริหารพอร์ตที่ถูกใจ
เนื่องจากลูกค้าที่ผมพบมีตั้งแต่รับความเสี่ยงไม่ได้เลย ไปจนถึงรับได้สูงและอยากได้ผลตอบแทนที่สูงมากๆจนผมไม่กล้าให้คำแนะนำ ดังนั้น ผมจึงกำหนดแนวทางการบริหารพอร์ตการลงทุนของผมออกเป็น 3 แนวทาง ดังนี้
1. Matched to your desired financial goal – ตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินของคุณ
ในการวางแผนการเงิน พอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับลูกค้าที่สุด คือพอร์ตที่ทำให้แผนการเงินของลูกค้าเป็นไปตามที่ลูกค้าต้องการ ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ดังนั้นผมไม่จำเป็นต้องพยายามสร้างผลตอบแทนให้ได้สูงๆหรือพยายามจับจังหวะตลาด ซึ่งจะทำให้พอร์ตของลูกค้าต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่มากเกินไป แต่ผมจะกำหนดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อที่จะทำให้อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังเป็นไปตามที่ลูกค้าตั้งใจ โดยมีความเสี่ยงที่ต่ำที่สุด
ตัวอย่าง : ลูกค้าท่านหนึ่งต้องการวางแผนเพื่อการศึกษาของบุตร โดยจำเป็นต้องใช้เงินในอีก 7 ปีข้างหน้า ซึ่งต้องใช้เงินเก็บจำนวนหนึ่ง และเงินออมเพิ่มเติมทุกๆเดือน จากการวิเคราะห์ความสามารถในการรับความเสี่ยง เป้าหมายการลงทุน และระยะเวลาการลงทุน พอร์ตการลงทุนนี้จำเป็นจะต้องได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6% ต่อปี
คำแนะนำ : พอร์ตที่ผมเลือกให้จัดเป็นพอร์ตที่มีความเสี่ยงในระดับปานกลาง โดยลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุน 40% กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 20% กองทุนรวมตราสารหนี้ 25% และกองทุนรวมตลาดเงินอีก 15% ซึ่งอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่คาดการณ์ออกมาที่ 6.5% และค่าความผันผวนที่ประมาณ 6% ผมเรียกว่าการจัดพอร์ตแบบนี้ว่า Optimal risk portfolio ครับ
หากผมเลือกลงทุนในกองทุนหุ้น 100% เลย แม้ว่าผลตอบแทนอาจจะได้สูง แต่หากวันที่จำเป็นต้องจ่ายค่าเทอมเกิดหุ้นลงหนักๆ ลูกของเขาอาจจะไม่ได้เรียนร.ร.เอกชนหรือ ร.ร.นานาชาติ ตามที่ตั้งใจไว้ก็เป็นได้
ปัจจุบันผมจัดพอร์ตออกเป็น 3 พอร์ตด้วยกันตามระดับความเสี่ยง แต่ละพอร์ตจะมีสัดสวนการลงทุนในสินทรัพย์ที่แตกต่างกันไป สิ่งที่ผมจะเสนอมากกว่าแค่สัดส่วนคือผมจะคัดเลือกกองทุนที่เด่นๆในแต่ละสินทรัพย์ให้ด้วย ตรงนี้หากท่านมิได้มีผู้แนะนำด้านการลงทุนส่วนตัวอาจจะต้องเสียเวลามานั่งหาข้อมูลกันหน่อยครับ
2. Enhanced Return Portfolio - พอร์ตเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น
ลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มอายุประมาณผม (ลองทายกันดูครับ อายุหน้าลบไปสัก 5 ปี -*-) อยากได้สูงกว่า 8-10% ขึ้นไปทั้งนั้น เพราะยังอยู่ในช่วงวัยที่รับความเสี่ยงได้สูง ยังมีโอกาสในการหายรายได้อีกหลายปี สำหรับลูกค้ากลุ่มนี้ผมจะขอใช้คำว่า “คุณและผม” มาบริหารพอร์ตร่วมกัน โดยผมจะทำหน้าที่ติดตามข่าวสาร และมีรีวิวกันทุกเดือน โดยผมจะแชร์มุมมองให้ฟังแล้วเสนอแนวทางการปรับพอร์ตว่าช่วงนี้ควร OW UW ในสินทรัพย์อะไรบ้าง งานนี้ค่อนข้างหนักสำหรับผมทีเดียวดังนั้น ผมอาจจะขอเก็บค่าที่ปรึกษา โดยค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับขนาดของพอร์ตที่ให้ผมดูแล ปล. ค่าที่ปรึกษาตรงนี้ไม่ได้จ่ายผมโดยตรง แต่จะใช้สำหรับ Hedge ความเสี่ยงครับ
3. Abnormal Expected Return – อยากได้กำไรเยอะๆไปไหน!?
ลูกค้าต้องการผลตอบแทนสูง (มากกกก) กรณีนี้ผมจะให้คำแนะนำเรื่องการจัดสรรทรัพย์สินที่เหมาะสม เพื่อปิดความเสี่ยงในกรณีที่ไม่คาดคิด และแนะนำสัดส่วนว่าคุณสามารถลงทุนแบบเสี่ยงๆนี้ประมาณเท่าไรของทรัพย์สินที่มี แล้วผมก็จะแนะนำเพื่อนผมที่เก่งๆด้านนี้ให้รู้จัก ซึ่งผมว่าน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดทั้งกับตัวลูกค้าและตัวผู้แนะนำเองด้วยครับ
เป็นอย่างไรกันบ้างกับทั้ง 3 แนวทางข้างต้น ถ้าเป็นไปได้อยากให้ท่านผู้อ่านช่วยคอมเม้นหรือแชร์คำแนะนำเพื่อผมจะได้เอาไปปรับปรุงการทำงานของผมเอง เพราะผมคงไม่สามารถบริหารพอร์ตได้ดีเท่ากับผู้จัดการกองทุนแน่ๆ
ปัจจุบันผมพยายามพัฒนาโมเดลส่วนตัวของผมเอง ซึ่งจากการทดสอบผลการดำเนินงานช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างดีทีเดียว อย่างในปีนี้แม้ตลาดจะติดลบราวๆ 5% พอร์ตเสี่ยงสุดของผมยังบวกแถวๆ 0.5-1.0% แต่ผมขอยอมรับว่าผมอาจจะไม่ได้ลงทุนเก่งขนาดทำให้ลูกค้ากำไรได้ 15-20% ไปตลอด แต่ถ้าอยู่ในช่วงไม่เกิน 8-10% ผมมั่นใจค่อนข้างมากที่จะทำได้ แต่ต้องมีระยะเวลาให้ผมบริหารพอสมควรด้วยนะครับ
แนวทางการบริหารพอร์ตการลงทุน

19 ก.พ. 2562