หลายๆท่านถามผมว่า นักวางแผนการเงิน CFP® คือใคร? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ประกอบวิชาชีพทางการเงิน เช่น ผู้แนะนำการลงทุน ตัวแทนประกัน พนักงานธนาคาร ที่อาจจะเริ่มได้ยินคำนี้บ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานของตนเองโดยตรง
ผมจึงได้เรียบเรียงข้อมูลที่ควรทราบมาให้อ่านกัน โดยเนื้อหาส่วนใหญ่มาจากสื่อประชาสัมพันธ์ของสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ซึ่งทุกคนสามารถติดตามข้อมูลอื่นๆเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ www.tfpa.or.th นะครับ
ก่อนอื่นผมขออนุญาตปูพื้นเรื่อง “การวางแผนการเงิน” กันก่อน
“การวางแผนการเงิน” คือ กระบวนการในการจัดทำแผนบริหารจัดการเรื่องการเงินส่วนบุคคลอย่างเหมาะสมเพื่อบรรลุเป้าหมายชีวิต ตามลำดับความสำคัญที่ต้องการได้
เป้าหมายสำคัญต่างๆในชีวิต ได้แก่ การซื้อบ้าน การสมรส ทุนการศึกษาบุตร การจัดการความเสี่ยงสำหรับตนเองและครอบครัว การเกษียณอายุ การลงทุน การวางแผนมรดก การวางแผนภาษี รวมถึงการมีเงินทุนเพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจ เป็นต้น
“นักวางแผนการเงิน” สามารถ ให้คำแนะนำว่าผู้รับคำปรึกษาต้องทำสิ่งใดบ้าง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินตามต้องการ โดยใช้กระบวนการวางแผนการเงิน เพื่อวิเคราะห์ภาพรวมสถานะทางการเงินและให้คำแนะนำกลยุทธ์การวางแผนการเงินแบบองค์รวมที่เหมาะสม ซึ่งได้แก่ การจัดทำงบประมาณรายรับรายจ่าย การออมเงิน ภาษี การลงทุน การประกันชีวิต และการเกษียณอายุ ทั้งนี้ นักวางแผนการเงินอาจให้บริการวางแผนการเงินเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง แต่จะให้คำแนะนำโดยพิจารณาสถานะทางการเงินในภาพรวมของลูกค้า ทำให้นักวางแผนการเงินแตกต่างจาก “ที่ปรึกษาทางการเงิน” ทั่วไปที่อาจมีความเชี่ยวชาญเรื่องการเงินเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น
คำว่า “ที่ปรึกษาทางการเงิน” ในที่นี้อาจหมายถึง ผู้แนะนำหรือวางแผนการลงทุน (เชี่ยวชาญเรื่องการลงทุน) ตัวแทนประกันชีวิต (เชี่ยวชาญเรื่องการทำประกันเพื่อบริหารความเสี่ยง) พนักงานธนาคาร (เชี่ยวชาญเรื่อง การฝากเงินหรือสินเชื่อ)
คุณวุฒิวิชาชีพ นักวางแผนการเงิน CFP® /CERTIFIED FINANCIAL PLANNERTM ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1972 โดยองค์กรไม่แสวงหากำไรของกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านการวางแผนการเงิน (ต่อมามีการปรับเปลี่ยนเป็น CFP Board) ที่มุ่งหวังที่จะช่วยเหลือชาวอเมริกันให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเงิน กว่า 40 ปีผ่านไป ปัจจุบัน คุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP® ได้รับการยอมรับว่าเป็นมาตรฐานสูงสุดด้านการวางแผนการเงินระดับสากล
“สมาคมนักวางแผนการเงินไทย” เป็นหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้บริการจัดการโครงการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP® ในประเทศไทยตามข้อตกลงกับ Financial Planning Standards Board Ltd. (FPSB) ซึ่งเป็นผู้นำเครื่องหมายคุณวุฒิ CFP® มาเผยแพร่ในระดับนานาชาติ
โดยสมาคมฯ จะ อนุญาตให้เฉพาะบุคคลที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP เท่านั้น มีสิทธิ์ใช้เครื่องหมายรับรองคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP
ซึ่งหลายๆ ประเทศ (ปัจจุบันมีทั้งหมด 26 ประเทศ) ได้นำคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP® ไปใช้เป็นมาตรฐานเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรีย, อังกฤษ, เกาหลีใต้, จีน, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ฮ่องกง, นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย ฯลฯ
นักวางแผนการเงิน CFP® จะต้อง ผ่าน มาตรฐาน 4E คือ
Education คือ ผ่านการอบรมชุดวิชาที่ 1-6 (40 ชั่วโมง/ชุดวิชา) ประกอบด้วย
ชุดวิชาที่ 1 พื้นฐานการวางแผนการเงิน ภาษี และจรรยาบรรณ
ชุดวิชาที่ 2 การวางแผนการลงทุน
ชุดวิชาที่ 3 การวางแผนการประกันภัย
ชุดวิชาที่ 4 การวางแผนเพื่อวัยเกษียณ
ชุดวิชาที่ 5 การวางแผนภาษีและมรดก
ชุดวิชาที่ 6 การจัดทำแผนการเงิน
Examination คือ ผ่านข้อสอบฉบับที่ 1-4 (รวมการจัดทำแผนการเงินแบบองค์รวมเพื่อนำเสนอคณะกรรมการ)
Experience คือ มีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อย 3 ปี
Ethic คือ ปฏิบัติตามจรรยาบรรณและความรับผิดชอบในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพทางการเงิน
นอกจากนี้นักวางแผนการเงิน CFP® ยัง ต้องพัฒนาคุณวุฒิวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อพัฒนาการทางวิชาชีพการวางแผนการเงินและกฎระเบียบที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยจะต้องมีจำนวนชั่วโมง CPD (Continuing Professional Development – CPD) ไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมง เพื่อต่ออายุคุณวุฒิวิชาชีพทุก 2 ปี ปฏิทิน
สรุปได้ว่า นักวางแผนการเงิน CFP® เป็นวิชาชีพที่ต้องผ่านมาตรฐานระดับสากล และมีหน้าที่สำคัญต่อผู้รับคำปรึกษาเป็นอย่างยิ่ง วิชาชีพนี้จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากสำหรับที่ปรึกษาทางการเงินด้านต่างๆที่ต้องการให้บริการรอบด้านมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ธุรกิจด้าน Financial Planning, Wealth Management หรือ Private Banking กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในระดับโลกรวมถึงประเทศไทย
ดร. ชาติชาย มีสุขโข CFP®
นักวางแผนการเงิน CFP® คือใคร?
17 ธ.ค. 2560