ถาม เงินได้พึงประเมินซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ แต่มีสิทธิเลือกเสียภาษีไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้กับเงินได้อื่นในการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ประจำปี เช่น ดอกเบี้ย, เงินปันผล (รวมถึงเครดิตภาษีเงินปันผล), เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะออกจากงาน, เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาทางมรดกหรือรับโดยเสน่หา นำมาเป็นฐานคำนวณจำนวนเงินสูงสุดของการซื้อ RMF (15%) ได้หรือไม่?
ตอบ ได้
ถาม เงินได้ที่ ไม่สามารถนำมาเป็นฐานคำนวณ จำนวนเงินสูงสุดของการซื้อ RMF ได้แก่อะไรบ้าง?
ตอบ เงินได้ที่มีกฎหมายกำหนดให้ตัวเงินได้ที่ได้รับนั้นได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ ส่วนมากจะกำหนดอยู่ในมาตรา 42 เช่น รางวัลจากการถูกสลากกินแบ่งของรัฐบาล การขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ การขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม
ถาม เงื่อนไขการ ขาย RMF แล้วไม่ถูกเก็บภาษีย้อนหลัง เป็นอย่างไร?
ตอบ ถือหน่วยลงทุน ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันซื้อ RMF ครั้งแรก ขณะที่ขายมี อายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ โดยได้ซื้อหน่วยลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้งและต้อง ไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน
กรณีถือ RMF ไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี บริบูรณ์ และซื้อ RMF มาทุกปีหรืออย่างน้อยปีเว้นปีแล้ว
ถาม ไม่ซื้อ RMF อีกต่อไป ได้หรือไม่?
ตอบ ได้
ถาม ขาย RMF บางส่วน ได้หรือไม่?
ตอบ ได้
ถาม การขาย RMF บางส่วน ส่งผลให้การซื้อ RMF เพิ่มเติมจะ ต้องเริ่มต้นนับระยะเวลาลงทุนใหม่ไปอีก 5 ปีจึงจะขายได้ใช่หรือไม่?
ตอบ ใช่
ถาม เงื่อนไขของ RMF ที่ซื้อ ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2551 ต่างกับเงื่อนไขในปัจจุบันอย่างไร?
ตอบ กำหนดให้ถือ RMF ไว้ 5 ปี นับแต่วันที่ซื้อ RMF ครั้งแรก โดยใน ขณะขาย RMF อายุอาจจะยังไม่ถึง 55 ปี บริบูรณ์ก็ได้
ถาม ซื้อ RMF ตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2551 เป็นประจำทุกปี จนถึงปี 2560 (เกิน 5 ปีแล้วนับตั้งแต่วันที่ลงทุนครั้งแรก) แต่อายุยังไม่ถึง 55 ปี บริบูรณ์ ถ้าขาย RMF ทั้งหมด ผิดเงื่อนไขหรือไม่?
ตอบ การขายทั้งหมดจะส่งผลให้ ส่วนที่ซื้อหลังวันที่ 1 มีนาคม 2551 เป็นการขายแบบผิดเงื่อนไข เนื่องจากผู้ลงทุนอายุไม่ถึง 55 ปีบริบูรณ์ แต่ ถ้าขายเฉพาะส่วนที่ซื้อก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2551 จะไม่นับว่าผิดเงื่อนไข
ถาม การทำผิดเงื่อนไขแล้วต้อง เสียภาษีย้อนหลัง 5 ปี หมายความว่าอย่างไร?
ตอบ คือการนำค่าลดหย่อน RMF ที่ใช้สิทธิไปแล้ว ไป คิดคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีที่ใช้สิทธิไปแล้วใหม่ (ตัดค่าลดหย่อน RMF ออกไป) ทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มเติมของปีภาษีนั้น ทั้งนี้ ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม เป็นรายปีภาษี โดย คำนวณย้อนหลังไป 5 ปี เช่น ทำผิดเงื่อนไข ปี 2560 จะต้องยื่นแบบปรับปรุงเพื่อชำระภาษีเพิ่มเติมของปี 2555-2559 (ต้องยื่น 5 ฉบับ) ภายในวันที่ 31 มีนาคม ปี 2561 (ปีถัดจากปีที่ทำผิดเงื่อนไข)
ถาม การเสียภาษีเพิ่มเติมย้อนหลัง 5 ปี จากการทำผิดเงื่อนไข จะต้องเสียค่าปรับ(เงินเพิ่ม)หรือไม่?
ตอบ ไม่ต้อง หากยื่นแบบฯ ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดจากปีที่ทำผิดเงื่อนไข
ถาม หากยื่นแบบฯ ภายหลังวันที่กำหนด ต้องเสียค่าปรับ(เงินเพิ่ม)อย่างไร?
ตอบ ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มในอัตรา ร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน นับแต่วันที่พ้นกำหนดยื่นแบบฯ ของ ปีที่ใช้สิทธิลดหย่อน RMF จนถึงวันที่ชำระภาษีเพิ่มเติม
ซื้อ RMF ปี 2559 เป็นปีแรก นำไปหักลดหย่อนภาษีของปี 2559 ทำให้เสียภาษี 55,000 บาท (ถ้าไม่ลดหย่อน RMF จะเสียภาษี 75,000 บาท) ต่อมาปี 2560 ขาย RMF ไป
ถาม ถ้ามีการยื่นแบบฯ เพิ่มเติม ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 จะต้องชำระภาษีเพิ่มเท่าใด?
ตอบ ชำระภาษีเพิ่มอีก 20,000 บาท จากส่วนต่างระหว่าง 75,000 และ 55,000 (ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มหรือค่าปรับ)
ถาม ถ้ายื่นแบบฯ ภายหลังวันที่ 31 มีนาคม 2561 เช่น วันที่ 2 เมษายน 2561 จะต้องชำระภาษีเพิ่มเท่าใด?
ตอบ จะต้องชำระภาษีเพิ่ม 20,000 บาท และ ค่าปรับเงินเพิ่มอีก 1.5% ของ 13 เดือน โดยเริ่มต้นนับจากวันที่ 1 เมษายน 2560 (เนื่องจากเป็นวันถัดจากวันสุดท้ายที่ต้องยื่นแบบฯ ของรายได้ปี 2559) จนถึงวันที่ 2 เมษายน 2561 คิดเป็น 12 เดือน และ เศษของเดือน รวมเป็น 13 เดือน ทำให้ต้องเสียเงินเพิ่มอีก 1.5%x13x20,000 = 3,900 บาท
ถาม การขาย RMF เมื่อผู้ลงทุนเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ขณะที่ยังไม่เข้าเงื่อนไข เช่น อายุไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์ จะต้องเสียภาษีย้อนหลังหรือไม่?
ตอบ ไม่ต้อง
เรียบเรียงจาก บทความพิเศษ “ซื้อ RMF อย่างไร จึงจะนำมาลดหย่อนภาษี และไม่ถูกเก็บภาษีย้อนหลัง” โดย ชุมพร เสนไสย
ในวารสาร ธรรมนิติ ฉบับ เอกสารภาษีอากร เดือน พฤศจิกายน และ ธันวาคม 2559
ประเด็นที่หลายคนอาจไม่แน่ใจเกี่ยวกับเงื่อนไข RMF
21 พ.ย. 2560