เคยมีคนขอยืมเงินคุณไหม ไม่ว่าจะเป็นพี่น้อง ญาติ เพื่อน
รวมไปถึงคนที่อาจจะไม่ได้สนิทมากก็ตาม ก่อนที่จะตัดสินใจให้เงินกับใครก็ตาม คุณคงพิจารณาถึงเรื่องเหล่านี้บ้างแน่ๆ
จะยืมเท่าไร ระยะเวลายืมนานแค่ไหน อัตราดอกเบี้ยที่ชดเชยให้คุ้มหรือไม่
ดูแล้วเขาพอจะมีศักยภาพในการชำระคืนไหม ที่ต้องคิดหลายๆด้านนี้ ก็เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อให้ยืมแล้ว
เขาจะไม่หายไปพร้อมกับเงินของคุณ
สถาบันการเงินก็เช่นกัน ก่อนที่จะอนุมัติปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ขอกู้
ซึ่งบางรายอาจจะไม่รู้จักกันมาก่อนด้วยซ้ำ ดังนั้นสถาบันการเงินจึงต้องกำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาต่างๆ
เพื่อให้มั่นใจว่าผู้กู้รายนั้นจะสามารถจ่ายเงินคืนตามที่ตกลงไว้ เพราะหากลูกหนี้รายหนึ่งผิดนัดหรือกลายเป็นหนี้เสีย
จะตกเป็นต้นทุนทั้งในแง่เวลาในการติดตามทวงหนี้ และต้นทุนทางการเงินของบริษัททันที
ด้วยปัญหาข้างต้น บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (National Credit Bureau) จึงได้พัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่า
Credit Scoring ขึ้นมาเพื่อช่วยประเมินความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ของลูกหนี้
ซึ่งจะช่วยคาดการณ์โอกาสที่ผู้กู้จะผิดนัดชำระหนี้
และช่วยลดความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มคนดังกล่าวได้
ระบบ Credit Scoring
ของเครดิตบูโรคืออะไร และพัฒนาขึ้นมาอย่างไร
อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ข้อมูลเครดิต หรือ Credit Scoring เป็นโมเดลที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยลดปัญหาในการปล่อยกู้ให้แก่ผู้ที่ไม่พร้อมจะชำระหนี้คืน
โดยจะบอกได้ว่าผู้กู้รายนั้นมีความน่าเชื่อถือขนาดไหน เมื่อรับเงินไปแล้วเขามีความตั้งใจในการชำระคืนหนี้หรือไม่
โดยที่ Credit Scoring ถูกพัฒนาขึ้นจากข้อมูลธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดในทุกๆสถาบันการเงินของลูกค้า
ในอดีตตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปี ว่ามีการใช้จ่ายเป็นอย่างไร มียอดการกู้ยืมอะไรบ้าง
จำนวนเท่าไร มีการชำระเงินตรงเวลาไหม ผิดนัดชำระหรือไม่ หรือกระทั่งมีการขอวงเงินที่พร้อมจะกู้ยืมไว้มากน้อยขนาดไหน
เป็นต้น จากนั้นจึงนำข้อมูลดังกล่าว มาสร้างแบบจำลอง เพื่อคำนวณเป็นคะแนนออกมาใช้ในการตัดสินใจวิเคราะห์ลูกค้า
ซึ่งเรียกว่า Credit Bureau Score โดยมีการแบ่งกลุ่มออกเป็นเกรดตั้งแต่
HH - AA คิดเป็นคะแนนตั้งแต่ 300
- 900 คะแนน แต่ละ Score จะบอกสาเหตุของคะแนนที่ได้รับ
และโอกาสที่ลูกหนี้จะชำระหนี้คือว่ามากหรือน้อยเท่าไร เช่น หากคะแนนเครดิตของคุณอยู่ที่ 672 คะแนน ซึ่งถือว่าอยู่ระดับ DD และมีความน่าจะเป็นในการชำระคืนหนี้สิน
88% นั่นหมายความว่าคุณมีโอกาส 12% ที่จะไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ในอีก
12 เดือนข้างหน้า
ตารางคะแนนเครดิต
ช่วงคะแนน |
ระดับคะแนนเครดิต |
746 - 900 |
AA |
716 - 745 |
BB |
685 – 715 |
CC |
668 – 684 |
DD |
653 – 667 |
EE |
631 – 652 |
FF |
602 – 630 |
GG |
300 – 601 |
HH |
Credit Scoring มีประโยชน์กับสถาบันเงินอย่างไร
ปัจจุบันสถาบันการเงินแต่ละแห่งต่างมี Scoring ของตนเอง
ในการพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อให้แก่ลูกค้า
ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากฐานข้อมูลลูกค้าและประสบการณ์ในอดีตของตนเอง ทำให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งมีความเข้มข้นของเกณฑ์แตกต่างกัน
หากเกณฑ์การพิจารณาเข้มจนเกินไปอาจทำให้สูญเสียโอกาสทางธุรกิจได้
และในทางกลับกันเกณฑ์ที่ประณีประนอมมากไปก็อาจทำให้รับลูกค้ากลุ่มเสี่ยงเข้ามาได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามเกณฑ์ของสถาบันการเงิน
มักจะบอกเฉพาะ "ศักยภาพในการชำระหนี้" เท่านั้น ดังนั้น Credit Scoring จะเข้ามาเป็นข้อมูลเสริม
โดยจะช่วยวัด "ความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้" ตัวอย่างเช่น นาย A
ปัจจุบันเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทแห่งหนึ่ง
ซึ่งเมื่อพิจารณาจาก Scoring ของสถาบันการเงิน
พบว่าเขามีความสามารถในการชำระหนี้สูง แต่เมื่อพิจารณาด้วย Credit Scoring กลับพบว่านาย A มีความน่าเชื่อถือหรือมีความตั้งใจในการชำระหนี้ต่ำ
ซึ่งมีแนวโน้มว่าเขาจะกลายเป็นหนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ที่มีเงิน
มีหนี้ แต่ไม่ยอมจ่าย หรือที่เรียกว่าเป็นลูกหนี้ที่จงใจเป็นหนี้เสีย (Strategic
NPL) เมื่อพิจารณาเช่นนี้แล้ว
สถาบันการเงินก็อาจจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับนาย A เพื่อลดปัญหาหนี้เสียในอนาคต
หรืออาจจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้
ทำไมวันนี้ท่านถึงควรทราบอันดับเครดิตของตนเอง
ในแง่ของผู้บริโภคหรือผู้ขอสินเชื่อเองนั้น Credit Scoring มีประโยชน์เช่นกัน
เพราะคะแนนที่ออกมาจะบอกถึงความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้
และความสามารถในการก่อหนี้ของตนเอง เช่น หากคะแนนออกมาอยู่ในระดับ FF นั่นหมายความว่าท่านมีโอกาสสูง ที่จะมีปัญหาทางการเงินในอนาคตได้ ดังนั้นท่านควรจะพิจารณาปรับลดค่าใช้จ่ายลง
หรือหารายได้เพิ่มเติมเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้
หากมองในแง่ความน่าเชื่อของเครดิตแล้วผู้ที่มี Credit Scoring
ที่ดีกว่าก็ควรได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ดีกว่าด้วยเช่นกัน ซึ่งในต่างประเทศผู้มีเครดิตดีอาจจะกู้สถาบันการเงินได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าผู้ที่มีเครดิตไม่ดี
เป็นต้น ซึ่งถ้าหากในอนาคตบ้านเรามีการนำเอาวิธีการดังกล่าวมาใช้
ก็จะช่วยให้ท่านสามารถขอสินเชื่อได้ในอัตราที่ต่ำลงได้
ประโยชน์ในแง่ของผู้เล่นรายใหม่อย่าง FinTech
ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย และช่องทางการเข้าถึงที่สะดวกผ่านอินเตอร์เนท
ทำให้ผู้มีเงินออม และผู้ต้องการแหล่งเงินทุน สามารถติดต่อกันได้ง่ายขึ้น
ก่อให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆอย่าง การระดมทุนจากสาธารณะ (Crowd Funding) การกู้ยืมระหว่างบุคคล (Peer-to-Peer
Lending) ซึ่งเป็นช่องว่างที่ FinTech (Financial
Technology) จะสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จาก Credit Scoring โดยช่วยให้ผู้ที่ต้องการเงินสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือเงินกู้ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
ในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมตาม Credit Score ของตนเอง
นักวางแผนการเงินสามารถนำ Credit Scoring ไปใช้อย่างไรได้บ้าง
ในการให้คำแนะนำทางการเงินแก่ลูกค้าหรือผู้ขอรับคำปรึกษาวางแผนการเงิน
การขอเอกสารรายงาน Credit Scoring ของลูกค้าจะบอกรายละเอียดการกู้ยืม
พฤติกรรมการใช้จ่าย การชำระหนี้สินในแต่ละงวด
ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพของหนี้ในระบบทั้งหมด และเห็นความตั้งใจในการชำระหนี้ของลูกค้า
ทำให้นักวางแผนสามารถวิเคราะห์แก้ไขปัญหาทางการเงินของลูกค้าได้เหมาะสมยิ่งขึ้น
นอกจากนี้แล้วหากเป้าหมายของลูกค้าจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงิน
อย่างการซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือกู้ยืมเพื่อธุรกิจ
นักวางแผนการเงินยังสามารถช่วยวางแผน “อัพเกรด” Credit
Score ให้แก่ลูกค้าก่อนที่จะขอสินเชื่อข้างต้น เพื่อให้ลูกค้าได้รับอนุมัติง่ายขึ้น
และอาจได้รับดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่ดีขึ้น
ช่วยลดต้นทุนทางการเงินของลูกค้าได้ด้วยเช่นกัน
Credit Scoring เป็นอีกเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างมากซึ่งจะช่วยให้นักวางแผนการเงิน
สามารถนำไปใช้ประกอบคำแนะนำแก่ลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการบริหารสภาพคล่องและการบริหารหนี้สิน
เพื่อช่วยลดโอกาสที่ลูกค้าจะประสบปัญหาทางการเงินในอนาคตได้
ท้ายสุดนี้อยากสนับสนุนให้เพื่อนนักวางแผนการเงินทุกท่านตรวจเช็ค
Credit Scoring ของตนเองก่อนที่จะไปให้คำแนะนำลูกค้าครับ
อย่างน้อยก็เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ตัวท่านเอง เพราะหากลูกค้าได้ Score
ดีกว่า ท่านจะให้แนะนำลูกค้าได้อย่างไร